"ภูฏาน" เป็นประเทศในฝันของใครหลายคน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา อากาศดี เสน่ห์แห่งความงดงามของธรรมชาติและความสุขสงบ กลิ่นอายของวัฒนธรรมและประเพณี ศิลปะและสถาปัตยกรรมภูฏานที่มีเอกลักษณ์และมีรูปแบบเฉพาะตัว เรามาเริ่มรีวิวกันเลยดีกว่าค่าาาาา ...
ทัวร์นัดเจอกันที่สนามบินสุวรรณภูมิ ตอน 02.00 น. โดยเดินทางกันสายการบิน ดรุกแอร์ ( Druk Air ) เครื่องบินแวะจอดรับผู้โดยสารที่เมืองบักโดกร้า ประเทศอินเดีย ใช้เวลา 45 นาที ใครที่จะเดินทางไปเมืองพาโร ก็ยังไม่ต้องลงจากเครื่องนะคะ
8.00 น. เราถึงสนามบินพาโร สนามบินนี้มีความพิเศษคือ เป็นสนามบินที่อันตรายที่สุดในโลก ช่วงเวลาที่แลนดิ้งเราจะรู้สึกได้เลยว่า เครื่องบินเลาะตามไหล่เขา หักปีกซ้ายขวาเพื่อหลบภูเขา น่ากลัว แต่ก็สวยมากไปพร้อมๆกัน ซึ่งสนามบินนี้จะมีเพียงนักบินชาวภูฏานเพียง 10 คนเท่านั้นที่สามารถแลนดิ้งแบบนี้ได้
ถึงจุดตรวจคนเข้าเมืองแล้วววว ... เตรียมแลกเงินให้เป็นเงินสกุลนูทรัม
ระหว่างทางแวะถ่ายรูป "วัดตัมโช" ( Tamchoe Monastery ) ซึ่งมีสะพานเหล็กทอดไปอีกฝั่ง เป็นวัดที่สร้างโดยพระลามะทิเบตที่ต้องการมาหาแร่เหล็ก และท่านก็เป็นผู้คิดค้นการทำโซ่เหล็กเป็นครั้งแรก
และเราก็เดินทางต่อมาที่ "เมืองทิมพู" เมืองหลวงของประเทศภูฏาน กราบนมัสการพระศรีศากยมุนีปางนั่งขัดสมาธิที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งประดิษฐานกลางแจ้ง ( Buddha Dorderma ) บริเวณยอดเขาแห่งหนึ่งในเมืองทิมพู ที่นี่ยังถือว่าเป็นจุดชมวิวสวย ๆ ของเมืองทิมพูอีกที่นึงนะคะ
และมาที่ "Memorial Chorten" หรือมหาสถูปที่พระเจ้าจิกมี ดอร์จี วังชุก พระองค์เป็นมหากษัตริย์องค์ที่ 3 ของราชอาณาจักรภูฏาน
เดินเล่นในตัวเมืองทิมพู จะรู้สึกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมการแต่งกาย โดยชาวภูฏานจะแต่งกายด้วยชุดประจำชาติ ซึ่งผู้ชายแต่งชุดที่เรียกว่า "โค" (Kho) ส่วนผู้หญิงแต่งชุดที่เรียกว่า "คีรา" (Kira) ซึ่งเราก็ได้ไปเลือกชุดคีรา เพื่อจะใส่ในวันที่ 3 กันค่าาา
เราก็มาเดินเล่นชมวิว "เมืองทิมพู" กันต่อ
และได้ไปเขต "อนุรักษ์พันธุ์สัตว์ทาคิน" ( Takin Zoo ) เป็นสถานที่อนุรักษ์สัตว์ประจำชาติ เป็นสัตว์ที่หายาก สามารถพบได้เฉพาะที่ภูฏานในระดับความสูง 3,000 เมตรขึ้นไป (ถ่ายมาได้เท่านี้นะค่าาาา)
เข้าสู่โรงแรมที่พัก ในเมืองทิมพู
วันที่ 2 เราจะเดินทางไปยังเมือง "ปูนาคา" ระยะทางประมาณ 77 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง
ระหว่างทาง แวะจุดพัก ที่สูงที่สุดบนเส้นทางนี้ คือที่ "ดอร์ชูลา" ( Dorchula Pass ) ในระดับความสูง 3,150 เมตรเหนือ ระดับน้ำทะเล เป็นช่องเขาที่สามารถมองเห็นแนวเทือกเขาหิมาลัยได้ ในบางวันอาจเห็นทะเลหมอกปกคลุมอยู่ทั่วไป และยังเป็นที่ตั้งของมหาสถูป 108 องค์ (แต่วันนั้นหมอกลง อดเห็นวิวเลยยยยย T^T)
"ปูนาคาซอง" ( Punakha Dzong ) ซองแห่งนี้ได้ชื่อว่า เป็นซองที่สวยที่สุดในประเทศภูฏาน ซึ่งเป็นที่ประทับของพระสังฆราชในฤดูหนาว เพราะ ปูนาคามีอากาศไม่หนาวเย็นจนเกินไป ด้วยเหตุที่เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในระดับความสูงเพียง 1,350 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลเท่านั้น เมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ที่นี่จึงมีอากาศอบอุ่นกว่าในช่วงฤดูหนาว
บรรยากาศระหว่างทางไป "วัดชิมิลาคัง" ( Chimi Lhakhang )
เข้าที่พักของคืนวันที่ 2 เดินทางเหนื่อย ... แต่ก็สนุกมากๆเลยค่าา
วันที่ 3 วันสุดท้ายของการเดินทางท่องเที่ยวในภูฎาน
วันนี้เป็นวันที่ต้องใส่ชุด "คีรา" ไปถ่ายรูปลงแสตมป์ ซึ่งเราต้องกลับมาที่ "เมืองพาโร" ซึ่งจะผ่าน "ดอร์ชูลา" ( Dorchula Pass ) อีกครั้ง ซึ่งก็ลุ้นอยู่ว่าวันนี้จะได้เห็นหิมาลัยไหม (สุดท้ายก็หมอกลงอีกแล้วววววว T^T)
แวะชม "ที่ทำการไปรษณีย์ภูฏาน" (Post Office) และถ่ายรูปลงแสตมป์
สุดท้ายก่อนกลับบ้าน ... เราให้ความสำคัญกับ "วัดทักซัง" ( Taktsang Monastery ) เรียกตามภาษาท้องถิ่น ชื่อทักซังนี้มีความหมายว่า เป็นที่อยู่รังของเสือ ( Tiger’s Nest ) ซึ่งตั้งตามตำนานความเชื่อเก่าของวัดแห่งนี้กล่าวไว้ว่า เมื่อครั้งที่ท่านคุรุรินโปเช เข้ามาเผยแผ่ธรรมะในดินแดนแห่งนี้ ท่านได้แปลงร่างเป็นพญาครุฑขี่หลังเสือ ซึ่งเสือตัวนั้นก็คือร่างที่แปลงมาจากภรรยาของท่าน เหาะเหินขึ้นมาจำศีลภาวนา ณ ถ้ำเล็กๆบนหน้าผาแห่งนี้เป็นเวลากว่า 3 เดือน ต่อมาให้มีการสร้างวัดเพื่อให้พระที่มาปฏิบัติธรรมอยู่อาศัยและสร้างต่อๆ มาถึง 13 อาคาร อาคารเหล่านี้เคยถูกไฟไหม้หลายหนแต่ก็บูรณะขึ้นมาใหม่ ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ในการเดินขึ้น โดยครึ่งทางเราขี่ม้าขึ้นไป ทางค่อนข้างชัน ม้าที่เดินค่อนข้างชำนาญทางแต่ก็ยังกลัวอยู่ดี 5555
ชาวภูฎานน่ารักมาก ๆ เลยค่ะ ... ได้เพื่อนใหม่เยอะแยะเลย
ทริปภูฎาน เป็นทริปในฝันของใครหลายคน ซึ่งก็คิดว่ายากที่จะมา ตอนนี้มีทัวร์มากมายที่จัดทริปมาที่นี่ สะดวกง่าย ถ้าจะให้คำจำกัดความกับประเทศนี้ คงใช้คำว่า "be yourself" ไว้เจอกันทริปหน้านะคะ ขอบคุณสำหรับการติดตามรีวิวครั้งแรกค่าา
หมายเหตุ : มาภูฏานสิ่งที่นักท่องเที่ยวจะได้พบเห็นและได้ยินบ่อยๆ คือ ซอง เพราะ “ซอง” ไม่ใช่เป็นเพียงสถาปัตยกรรมที่มีความสำคัญกับด้านการบริหารการปกครองบ้านเมืองเท่านั้น หากแต่เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนภูฏาน เนื่องจากเป็นที่ตั้งของวัดหลักประจำท้องถิ่นเขตนั้นๆ หากแปลความหมายของซอง ซึ่งเป็นภาษาซองคา ก็คือ "ป้อมปราการ" ที่ในอดีตใช้เป็นที่ใช้ป้องกันอริศัตรูที่มารุกรานแผ่นดินแห่งนี้นั่นเอง