วัดมหาธาตุ
วัดมหาธาตุ เป็นวัดที่มีความสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ตั้งอยู่เชิงสะพานป่าถ่าน ทางทิศตะวันออกของวัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นวัดที่ประดิษฐานพระบรมธาตุใจกลางพระนคร และเป็นที่พำนักของ สมเด็จพระสังฆราช ด้วย ซึ่งวัดแห่งนี้ได้ถูกทำลายและปล่อยร้างหลังเสียกรุงครั้งที่2 จุดเด่นของวัดนี้คือ “เศียรพระพุทธรูปหินทราย” ซึ่งมีรากไม้ปกคลุมเศียรพระพุทธรูปนี้หล่นลงมาอยู่ที่โคนต้นไม้ในสมัยเสียกรุง จนรากไม้ขึ้นปกคลุม มีความงดงามแปลกตา ทำให้วัดแห่งนี้กลายเป็นวัดที่มีชื่อเสียงใครไปก็ไม่พลาดชมในจุดนี้ สำหรับวัดมหาธาตุ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. โดยมีอัตราค่าเข้าชมสำหรับชาวไทย 10 บาท และชาวต่างประเทศ 50 บาท
วัดหน้าพระเมรุ
วัดหน้าพระเมรุราชิการาม เป็นวัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ได้ถูกพม่าทำลาย ทั้งยังปรากฏสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาอยู่ในสภาพสมบูรณ์มากที่สุด สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น พ.ศ. 2046ยังคงมีความสมบูรณ์และงดงามของสถาปัตยกรรมในสมัยกรุงศรีอยุธยาในวัดมีสิ่งน่าสนใจควรค่าแก่การชมอยู่มากมาย นับตั้งแต่พระอุโบสถแบบอยุธยาขนาดใหญ่ ซึ่งมีเสาอยู่ภายในสิ่งที่โดดเด่นคือพระประธานในพระอุโบสถซึ่งสร้างปลายสมัยอยุธยา เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัยหล่อสำริดขนาดใหญ่ นามว่า “พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ” ขนาดหน้าตักกว้าง 4.40 เมตร สูง 6 เมตร และพระคันธารราฐที่มีอายุเก่าแก่กว่า 1,000 ปีเป็นพระพุทธรูปคู่บ้าน คู่เมือง และคุ้มครองบ้าน คุ้มครองเมือง ทำให้ข้าศึกเกิดความเกรงกลัวไม่ทำลายวัดนี้ เป็นที่น่าอัศจรรย์ เวลาเปิด-ปิด : ทุกวัน เวลา 08.00-17.00 น.
วัดแม่นางปลื้ม
วัดแม่นางปลื้ม ตั้งอยู่คลองสระบัว เป็นวัดเก่าแก่ที่มีเรื่องราว เต็มไปด้วยความสงบ สวยงามด้วยสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา สักการะ “หลวงพ่อขาว” ที่เป็นที่ศรัทธานับถือของชาวอยุธยา ที่มาที่ไปของวัดนี้ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช หรือพระองค์ดำ ได้เสด็จล่องเรือไปตามแม่น้ำในช่วงเย็น แต่เกิดติดพายุฝนทำให้ไม่สามารถเสด็จกลับพระราชวังได้ พระองค์จึงเสด็จขึ้นไปท่าน้ำบ้านเก่าหลังหนึ่งซึ่งมีหญิงชราอาศัยอยู่ลำพังเพียงคนเดียว นางได้นำผ้ามาผลัดเปลี่ยนให้พระองค์ แถมพระองค์ยังขอดื่มสุราแต่นางปฎิเสธิ แต่พระองค์ยังคงขอดื่มเพื่อคลายหนาว จนนางใจอ่อนให้และกำชับว่าห้ามบอกใครเพราะเป็นช่วงเข้าพรรษา ตลอดการสนทนานางเรียกลูกทุกคำ พอย่ำรุ่งพระองค์ก็เสด็จกลับ หลังจากนั้นก็ให้ข้าราชบริพารไปนำหญิงชราผู้นั้นมายังพระราชวัง ต่อมาทราบชื่อว่า นางปลื้ม พระองค์จึงได้เลี้ยงดูนางเป็นอย่างดี ดุจดั่งพระมารดาของพระองค์เอง หลังจากนางสิ้นชีพก็ได้บรูณะปฎิสังขรณ์ “วัดแม่นางปลื้ม” เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่แม่ปลื้มนั้นเอง สำหรับใครที่อยากตามลอย ลองหาเวลาไปพระนครศรีอยุธยากันนะคะ
เรียบเรียงโดย : โรสรินทร์ พุมฤทธิ์